เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ระวังโรคไข้เลือดออก โรคร้ายที่มียุงลายเป็นพาหะ

2024-05-23 16:31:13  |   223

ไข้เลือดออก” ภัยเงียบจากยุงที่ไม่ควรมองข้าม

 

               โรคไข้เลือดออกนับว่าเป็นโรคสุดฮิตที่มาพร้อมกับหน้าฝนมักเกิดขึ้นในช่วงเปิดเทอมของเด็ก ๆ มีพาหะสำคัญมาจากยุงลายและในบริเวณโรงเรียนอาจมีน้ำขังซึ่งถือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ยิ่งทำให้ยุงเพิ่มจำนวนขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โอกาสในการแพร่ระบาดจึงเพิ่มมากขึ้นการเฝ้าระวังและป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ เรามาทำความเข้าใจโรคนี้ให้มากขึ้นพร้อมลักษณะอาการ และได้รู้จักวัคซีนป้องกันเพื่อหาแนวทางในการรับมือและป้องกันได้อย่างถูกต้อง


            ไข้เลือดออก (Dengue fever) มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus: DENV)  1 ใน สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2,  DENV-3 หรือ DENV-4 ผ่านการกัดของยุงลายบ้าน หรือยุงไข้เหลืองเพศเมีย (Aedes aegypti) สัตว์พาหะนำโรคที่ชอบออกหากินในเวลากลางวัน เมื่อยุงลายพาหะกัดและดูดเลือดผู้ที่มีเชื้อไวรัสเดงกีในระยะที่มีไข้หรือในระยะไวรัสแพร่กระจายในกระแสเลือด ไวรัสเดงกีจะเข้าไปฝังตัวภายในเซลล์ผนังกระเพาะอาหารและต่อมน้ำลายของยุงลายพาหะ และจะเข้าสู่ระยะฟักตัวและเพิ่มจำนวนใน 8 - 12 วัน จากนั้นเมื่อยุงลายพาหะไปกัดผู้อื่น เชื้อไวรัสเดงกีจะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่ถูกกัดจนทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้มีอาการของโรคไข้เลือดออกภายใน 3 - 15 วัน


อาการของไข้เลือดออก สามารถแบ่งเป็น ระยะ ดังนี้

ระยะแรก (ระยะไข้สูง) ระยะนี้มักไม่ค่อยมีอาการจำเพาะ เด็กจะมีไข้สูงและเป็นหลายวัน (ประมาณ 5-6 วัน) ไม่มีไอไม่มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย  หากลูกมีไข้สูงหลายวัน คุณพ่อคุณแม่ควรนึกถึงการติดเชื้อไข้เลือดออกด้วยเสมอ ควรพาลูกไปพบแพทย์ ไม่ควรพยายามรักษาเอง และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดไข้ประเภทแอสไพรินและไอบูโพรเฟน ซึ่งอาจทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารและเกิดปัญหาเลือดออกในกระเพาะอาหาร รวมถึงเลือดไม่แข็งตัวเมื่ออาการของไข้เลือดออกเป็นรุนแรงถึงขั้นระยะช็อกได้

 

ระยะวิกฤติ (ระยะ 3 วันอันตราย อาจเสี่ยงกับอาการช็อกได้) ผู้ป่วยมักมีไข้มาแล้วหลายวัน อาการทั่วไปจะดูเพลียมากขึ้น เกล็ดเลือดเริ่มลงต่ำ อาจมีเลือดออกผิดปกติได้ เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด จุดเลือดออกตามร่างกาย อาจมีอาการปวดเมื่อยตัวมากขึ้น รวมถึงมีอาการปวดท้อง ท้องอืด เบื่ออาหาร ผิวหน้า-ฝ่ามือ-ฝ่าเท้าดูแดงๆ ในช่วงนี้เด็กบางคนอาจพูดคุยได้ดี แต่ก็ยังต้องคอยตรวจวัดชีพจรและความดันโลหิตเป็นช่วงๆ บ่อยๆ ร่วมกับดูปริมาณน้ำและอาหารที่รับประทานเข้าไปเทียบกับปริมาณปัสสาวะที่ออกมาในแต่ละช่วงของวัน ในบางรายอาจมีอาการท้องอืดมากขึ้น กระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ร่วมกับไข้ที่ลดลงเป็นอุณหภูมิปกติ ซึ่งอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจผิดว่าเด็กอาการดีขึ้น ทั้งๆ ที่เด็กอาจกำลังเข้าสู่ภาวะช็อกที่จะมีความรุนแรงตามมาในอีกไม่กี่ชั่วโมงนี้ก็ได้

            

ระยะฟื้นตัวเป็นระยะหลังไข้ลง โดยเกล็ดเลือดจะเริ่มกลับสูงขึ้น ชีพจรและความดันโลหิตเริ่มคงที่ดีขึ้น ปัสสาวะเริ่มออกมากขึ้น การไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองที่เคยซึมรั่วไปอยู่ในส่วนอื่นๆ ของร่างกายกลับเข้าสู่ระบบการไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้อวัยวะต่างๆ เริ่มทำงานเป็นปกติ จากนั้นในอีก 48-72 ชั่วโมงต่อมาจะเข้าสู่ระยะที่เรียกว่าหายเป็นปกติ ผู้ป่วยจะเริ่มมีความอยากอาหารบ้าง อาการปวดท้องและท้องอืดจะดีขึ้น รู้สึกมีแรงมากขึ้น มักพบผื่นแดงและคันตามฝ่ามือและฝ่าเท้าโดยไม่มีการลอกตัวของผิวหนัง

 

หากมีอาการอาจเป็นอาการไข้เลือดออก พบแพทย์ทันที

·      มีอาการแย่ลงเมื่อไข้ลดลง หรือไข้ลงแล้วยังเพลีย

·      เลือดออกผิดปกติ

·      อาเจียนมาก

·      ปวดท้องมาก

·      ซึม ไม่ดื่มน้ำ บางรายอาจกระหายน้ำมาก

·      มีอาการช็อก กระสับกระส่าย เอะอะโวยวาย หรือร้องกวนมากในเด็กเล็ก

·      ความประพฤติเปลี่ยนแปลง เช่น พูดไม่รู้เรื่อง

·      เพ้อ ตัวเย็น เหงื่อออก ตัวลาย

 

            ปัจจุบันยังไม่มีตัวยาไหนที่สามารถกำจัดเชื้อไข้เลือดออกได้ การป้องกันที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก การป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด รวมกับทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย 

 

โรงพยาบาลลานนา มีวิธีการตรวจหาโรคไข้เลือดออกโดยวิธี PCR เพื่อให้ได้ผลแม่นยำ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคและการรักษาโรคไข้เลือดออกได้ทันเวลา และเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยที่สุด และมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก (QDENGA)  ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง ฉีดได้ในเด็ก  และสามารถฉีดได้ทั้งในผู้ที่เคย และไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน แนะนำให้ฉีดทั้งครอบครัว..เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันค่ะ 


พญ. พิมพ์พิศา สุรินทร์แก้ว

                                                                                                                              กุมารแพทย์ โรงพยาบาลลานนา

Recent Post