รู้หรือไม่ ไวรัส HPV ผู้ชายก็เสี่ยงติดเชื้อได้

2024-08-20 15:01:39  |   149

รู้หรือไม่? ไวรัส HPV ผู้ชายก็เสี่ยงติดเชื้อได้

ผู้คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า เชื้อ HPV มักจะเกิดเฉพาะในผู้หญิง แต่จริงๆแล้ว ผู้ชายก็สามารถติดเชื้อได้เหมือนกัน เนื่องจาก HPV เป็นไวรัสที่ก่อโรคได้ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และยังติดต่อได้ง่ายจากการมีเพศสัมพันธ์ กับผู้ที่มีเชื้อไวรัส HPV อีกด้วย ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่เพศหญิงเท่านั้นที่ควรระวังเชื้อไวรัส HPV เรามาดูกันเลยค่ะ ว่าเชื้อ HPV ในผู้ชายเป็นอย่างไรบ้าง ?

HPV คือ

Human Papilloma Virus เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ในหลายอวัยวะมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยจัดแบ่งออกเป็น สายพันธุ์ความเสี่ยงสูงที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ได้แก่ สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58 และสายพันธุ์ความเสี่ยงต่ำที่ก่อให้เกิดหูดหงอนไก่ ได้แก่ สายพันธุ์ 6, 11 เป็นต้น ไวรัสนี้สามารถก่อโรคได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในอวัยวะต่าง ๆ เช่นมะเร็งปากมดลูก, มะเร็งช่องคลอด, มะเร็งปากช่องคลอด, มะเร็งอวัยวะเพศชาย,   มะเร็งทวารหนัก และ มะเร็งช่องปากและลำคอ

โรคที่พบได้จากการติดเชื้อ HPV ในเพศชาย

1. โรคหูดหงอนไก่ จะสังเกตได้หลังจากได้รับเชื้อไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งจะมีอาการคัน ร่วมกับการสังเกตได้ว่าผิวหนังมีลักษณะเป็นเนื้อนูนๆ คล้ายหงอนไก่หรือดอกกะหล่ำ มักเกิดบริเวณส่วนปลายของอวัยวะเพศ ผิวหนังบริเวณอัณฑะ ผิวบริเวณทวารหนัก หรืออาจเกิดที่กระพุ้งแก้ม ในช่องปากและในลำคอได้ ซึ่งการติดเชื้อในช่องปากและลำคอ อาจทำให้มีอาการเคืองคอ มีเสมหะมาก น้ำลายในปากเยอะขึ้น และหากก้อนหูดโตขึ้นก็อาจทำให้กลืนได้ลำบากมากขึ้น

2. โรคมะเร็งในช่องปากและมะเร็งลำคอ มักมีอาการเจ็บคอ ปวดหู ไอเรื้อรัง กลืนลำบาก เสียงแหบ น้ำหนักลงลดโดยไม่มีสาเหตุหรือไม่ได้ลดความอ้วน และคลำเจอก้อนผิดปกติที่บริเวณในช่องปากหรือลำคอ

3. โรคมะเร็งทวารหนัก เป็นมะเร็งที่สังเกตได้ยาก เพราะบางคนไม่มีอาการอะไรแสดงออกมาเลย แต่ในบางคนก็มีอาการที่สังเกตได้เช่นกัน เช่น ก้อนต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต อุจจาระปนเลือด คัน มีกลิ่นเหม็นไปจากเดิม มีน้ำเหลืองไหลร่วมด้วย รวมถึงอุจจาระมีขนาดเล็กและท้องผูกบ่อยขึ้น เป็นต้น

วิธีการป้องกันให้ห่างไกลเชื้อ HPV

ผู้ชายที่มีอายุ 9-26 ปี ควรฉีดวัคซีน HPV ซึ่งจะมีประโยชน์ในการป้องกันและลดโอกาสการติดเชื้อนี้ได้ และผู้หญิงอายุ 30-65 ปี ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เพียงไม่กี่อย่าง ก็จะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV และการเเพร่กระจายของเชื้อไปสู่บุคคลอื่นได้ ดังต่อไปนี้

  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ เพราะอาจจะได้รับเชื้อ HPV แบบไม่รู้ตัว
  • ก่อนมีเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัย แต่ก็ไม่ได้ป้องกันได้เกือบ 100% เพราะอาจจะมีการสัมผัสสารคัดหลั่งบริเวณอื่น ๆ ได้
  • การฉีดวัคซีน HPV เพื่อป้องกันการติดเชื้อ เพื่อประสิทธิภาพที่ดี ควรได้รับการฉีดวัคซีน HPV ตั้งแต่วัยเด็กหรือก่อนการมีเพศสัมพันธ์


HPV ก่อโรคในผู้ชาย

ในแต่ละปี มีผู้ชายเป็น มะเร็งทวารหนัก ประมาณ 16,000 คน และหูดหงอนไก่ จำนวนมากถึง 15 ล้านคน/ปี หูดงอนไก่ เกิดลักษณะเป็นติ่งเนื้องอกอ่อนๆ คล้ายหงอนไก่หรือดอกกะหล่ำ สามารถเกิดซ้ำได้ 30 - 70% ในระยะเวลา 6 เดือน หลังการรักษา "

ในเพศชาย ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ตอบสนองต่อเชื้อ HPV ได้ไม่ดี ทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อออกไปได้ ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ และเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV ในผู้ชายจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค และยังช่วยป้องกันการเป็นพาหะของเชื้อไวรัส HPV ที่เป็นเหตุก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงได้อีกด้วย ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ควรฉีดวัคซีนป้องกัน HPV เพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยการรับวัคซีนจะมีประสิทธิภาพดีที่สุดหากเราได้รับวัคซีนตั้งแต่ก่อนที่จะมีความเสี่ยง หรือมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อ HPV ในปัจจุบัน

ป้องกันความเสี่ยงด้วยการฉีดวัคซีน HPV ตั้งแต่วันนี้ โรงพยาบาลลานนา มีวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก 9 สายพันธุ์ ให้บริการแล้ว ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สูตินรีเวชกรรมและศูนย์กุมารเวชกรรม โทร. 052-134777

 

พญ. รวีวรรณ คำโพธิ์

แพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูตินารีเวชกรรม

Recent Post